โรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด) อันตรายถึงชีวิต !

  • 11 พ.ค. 2563
  • 3294
หางาน,สมัครงาน,งาน,โรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด) อันตรายถึงชีวิต !

นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า  สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงนี้  อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด  ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป จากการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนควบคุมอุณภูมิของร่างกายที่ส่งผลให้อุณภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง 

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรค คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ดื่มเหล้าจัด หรือทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง  เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน  โรคหัวใจ และโรคอ้วน

 

สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรค

1.อากาศร้อน  แต่เหงื่อไม่ออก  (อาการเพลียแดดทั่วไปจะมีเหงื่อออกด้วย)

2.หน้าแดงและตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ

3. รู้สึกกระหายน้ำมาก

4.วิงเวียน ปวดศีรษะ

5. คลื่นไส้ อาเจียน

6.หายใจเร็ว  เกร็งกล้ามเนื้อ

7.ชัก

8.มึนงง สับสน 

9.รูม่านตาขยาย

10.ความรู้สึกตัวลดน้อยลงและอาจหมดสติ

11.หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น  และถึงแก่ชีวิตได้

 

วิธีป้องกัน

1.ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน  ระบายอากาศได้ดีและป้องกันแสงแดดได้

2.ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สำหรับผู้ที่ทำงานในที่ร่ม  แต่ถ้าทำงานในสภาพอากาศที่ร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน ในวันที่มีอากาศร้อนจัด

3.ทาครีมกันแดด SPF 15 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้าน

4.หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด และหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนเป็นเวลานาน

5.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด

 

การช่วยเหลือผู้เป็นโรคฮีทสโตรกเบื้องต้น

1.นำเข้าในที่ร่ม ให้นอนราบ แล้วยกเท้าสูงทั้งสองข้าง  แต่ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย

2.คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก

3.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้  เชิงกราน ศีรษะ เพื่อระบายความร้อนร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน

4.ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง

5.ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กรณีที่ต้องทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที  เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด และเสริมสร้างให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล :  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top